transactional analysis
1. สภาวะส่วนตัว (Ego-State)
เมื่อบุคคลคนหนึ่งทำการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ๆ นั้น จะสังเกตเห็นได้ว่ามักจะมี
การเปลี่ยนน้ำเสียง คำพูด สีหน้า ท่าทาง แววตา ฯลฯ แตกต่างกันไปตามบุคคลที่กำลังติดต่อสื่อสารแต่ละคนสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ อธิบายได้ว่า เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะส่วนตัว (Ego-State) หรือบุคลิกภาพ(Personality Element) จากแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเมื่อบุคคลเปลี่ยนไปอยู่ที่บุคลิกภาพแบบใดแล้วความรู้สึกอารมณ์และกระบวนพฤติกรรมที่ผสมกลมกลืนกันนั้นก็จะปรากฏออกมาเป็นภาพรวมของบุคลิกภาพของบุคคล
บุคลิกภาพของบุคคล แบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้
1. บุคลิกภาพที่คล้ายกับคนที่ทำตัวเป็นพ่อแม่ หรือผู้ปกครองคนอื่น เรียกว่า “พ่อแม่” (Parent Ego-State)
2. บุคลิกภาพที่มีลักษณะของผู้ที่มีวุฒิภาวะสมบูรณ์หรือเป็นผู้ใหญ่ เรียกว่า “ผู้ใหญ่”
(Adult Ego-State)
3. บุคลิกภาพที่แสดงออกตามธรรมชาติของผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก เรียกว่า “เด็ก” (Child Ego-State)
บุคลิกภาพทั้ง 3 ดังกล่าวข้างต้น ไม่ใช่ “บทบาทของบุคคล” (Role) แต่เป็นความเป็นจริงทางจิตวิทยา (Psychological Reality) บุคคลโดยทั่วไปจะต้องมีบุคลิกภาพทั้ง 3 รวมอยู่ในตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าจะมีบุคลิกภาพโน้มเอียงไปในลักษณะใดมาก ก็จะมีพฤติกรรมไปในทางนั้นเป็นส่วนใหญ่
ต่อไปนี้เป็นลักษณะของบุคลิกภาพในแต่ละประเภท คือ
1.1 บุคลิกภาพแบบพ่อ-แม่ (Parent Ego-State)
บิดา มารดา เป็นแหล่งที่สะสมความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรม ซึ่งบุคคลจะยึดมั่นแล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ บุคลิกภาพ แบบ พ่อแม่ นี้แสดงออกใน 2 ลักษณะ คือ
– แบบตำหนิ ดุด่า ว่ากล่าว สั่งสอน ตักเตือน บังคับ ข่มขู่ ฯลฯ เรียกว่า Critical Parent
– แบบประคับประคอง ช่วยเหลือ ปลอบโยน ห่วงใย ให้กำลังใจ ฯลฯ เรียกว่า Nurturing Parent
จากการวิเคราะห์ของ Dr. Berne สรุปว่าในระยะ 5 ปีแรกของชีวิตเด็ก เด็กจะรวบรวมและบันทึกเหตุการณ์ที่ได้เห็น ได้ยิน จากการกระทำของบิดามารดา แล้วลอกเลียนมาประพฤติปฏิบัติ ดังนั้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงมีความสำคัญมาก เพราะถ้าบุคคลใดในเยาว์วัยได้เรียนรู้พฤติกรรมจากบิดามารดาในทางบวก ก็จะถ่ายทอดพฤติกรรมบวกนั้นมายังลูกของเขาเอง และบุคคลอื่น ๆ ในทางตรงข้างถ้าบุคคลใดได้เรียนรู้พฤติกรรมในทางลบจากบิดามารดา ก็จะถ่ายทอดพฤติกรรมที่เป็นลบนั้นไปยังคนที่ใกล้ชิดในครอบครัวและบุคคลอื่น ๆ ที่ติดต่อสื่อสารด้วย
กล่าวโดยสรุป ถ้าบุคคลใดประพฤติคล้ายกับคนที่ทำตัวเป็นบิดามารดาหรือผู้ปกครองคนอื่น เราเรียกว่า บุคคลนั้นมีบุคลิกภาพแบบพ่อแม่
1.2 บุคลิกภาพแบบเด็ก (Child Ego-State)
ดังได้กล่าวแล้วว่า เด็กในวัย 5 ปีแรกของชีวิต จะจดจำและลอกพฤติกรรมของบิดามารดา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายนอกมาประพฤติปฏิบัติเมื่อเขาเจริญเติบโตขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เด็กในวัยดังกล่าวก็จะบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเขา หรือกล่าวได้ว่าเป็นความรู้สึกของเขาที่มีต่อเหตุการณ์ที่เขาได้รับจากบิดามารดา แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ โดยจะแสดงออกใน 2 ลักษณะ คือ
1.2.1 ในลักษณะที่เป็นธรรมชาติ คือ สนุกสนานเป็นตัวของตัวเอง ร่าเริง กระตือรือร้น มีความคิดเพ้อฝันสร้างวิมานในอากาศ อยากรู้อยากเห็น ช่างเล่น ฯลฯ เรียกว่า เด็กปกติ (Natural Child)
1.2.2 ในลักษณะที่ได้รับการปรับมาแล้ว คือ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรโดยตนเอง ต้องคอยหาคนอื่นแนะนำช่วยเหลือสนับสนุน ฯลฯ เรียกว่า เด็กที่มีปัญหา (Adapted Child)
1.3 บุคลิกภาพแบบผู้ใหญ่ (Adult Ego-State)
เป็นบุคลิกภาพของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมีเหตุผล มีจุดมุ่งหมาย มีการคิดใคร่ครวญตามข้อเท็จจริง ไม่ใช้อารมณ์ก่อนที่จะตัดสินใจหรือทำอะไร จะรวบรวมข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์และประเมินผลอย่างรอบคอบเสียก่อน
ผู้มีบุคลิกภาพเป็นผู้ใหญ่นั้น จะยึดถือแต่ “ที่นี่และเดี๋ยวนี้” อันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความเป็นผู้มีสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ เป็นผู้ที่คิดอย่างมีเหตุผล ในขณะเดียวกันกับผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบพ่อแม่และแบบเด็กจะใช้แต่ความรู้สึก และปฏิกิริยาเป็นสิ่งตอบโต้ในการติดต่อสื่อสาร
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า บุคลิกภาพแบบผู้ใหญ่เปรียบเสมือนเสาหิน ซึ่งจะทำให้บุคคลสามารถปรับตัวที่จะอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบันนี้ได้อย่างมีความสุข
เมื่อได้ศึกษาถึงสภาพะหรือบุคลิกภาพแบบ Parent, Adult และ Child มาแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับ TA ของ Dr. Eric Berne ก็ได้ทำการวิเคราะห์การติดต่อกันระหว่างบุคคลสองคนว่า ฝ่ายหนึ่งใช้สภาวะหรือบุคลิกภาพแบบใดในการติดต่อสื่อสาร และอีกฝ่ายหนึ่งตอบโต้ด้วยการใช้บุคลิกภาพแบบใด
ชนิดของการติดต่อมี 2 แบบ คือ
1. แบบ “เป็นมิตร” หรือ Complementary หมายความถึง การที่ทั้งสองฝ่ายช่วยให้การติดต่อนั้นสมบูรณ์ได้เรื่องได้ราว บรรลุจุดประสงค์ตามที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการ ซึ่งแสดงไดอะแกรมด้วยลูกศรขนานกัน ดังนี้
P = Parent
A = Adult
C = Child